ในปัจจุบันเรากินผักผลไม้น้อยลงมาก ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท้องผูก โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง การกินผักและผลไม้จะช่วยป้องกันโรคเหล่านี้และช่วยให้ร่างกายได้รับใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ นอกจากนี้ยังได้รับสารพฤกษเคมี อีกด้วย
สารพฤกษเคมี (Phytonutrients) คืออะไร จำเป็นต่อร่างกายอย่างไร?
สารพฤกษเคมี คือ สารประกอบทางเคมีที่พบในพืช ผัก ผลไม้ชนิดต่างๆ ทำให้พืชแต่ละชนิด มีลักษณะเฉพาะตัว มีสีที่แตกต่างกัน สารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อกระบวนการทำงานของร่างกายและการป้องกันโรค สารพฤกษเคมี พบมากใน “ผักผลไม้ 5 สี”
- สีแดง มีสารไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยเฉพาะ มะเร็งต่อมลูกหมาก ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบมากใน มะเขือเทศ พริกหวาน สตรอเบอร์รี่ แตงโม แอปเปิ้ลแดง เป็นต้น
- สีส้ม/เหลือง มีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตาและการมองเห็น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบมากใน ฟักทอง แครอท มันเทศ ส้ม มะละกอ เสาวรส สัปปะรด เป็นต้น
- สีเขียว มีสารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ บำรุงผิวพรรณ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ผักใบเขียวยังเป็นผักที่มีใยอาหารสูง ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย พบมากใน ผักบุ้ง คะน้า ตำลึง แอปเปิ้ลเขียว ฝรั่ง
- สีม่วง มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งและต้านการอักเสบในร่างกาย ป้องกันการเกิดมะเร็ง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบมากใน กะหล่ำปลีม่วง มะเขือม่วง มันม่วง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ องุ่น ลูกพรุน บลูเบอร์รี่
- สีขาว มีสารอัลลิซิน (Allicin) และ แซนโทน (Xanthone) ช่วยลดการอักเสบ ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต จึงช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบมากใน กระเทียม หัวไชเท้า ข่า เงาะ ลิ้นจี่
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า การกินผัก ผลไม้ 400 กรัมต่อวัน ช่วยป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ดังนั้นเราควร “ กินผักผลไม้ให้ได้ 5 สี อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน” เพื่อให้ร่างกายได้รับสารพฤกษเคมี ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ เพียงพอ มีกิจกรรมทางกาย / ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (150 นาทีต่อสัปดาห์) ตลอดจนนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ
* ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือมีโรคประจำตัวควรปรึกษานักกำหนดอาหาร หรือแพทย์ประจำตัวก่อน
แหล่งข้อมูล
- World Health Organization. “Promoting fruit and vegetable consumption around the world” [Online]. Available from: https://www.who.int/dietphysicalactivity/fruit/en/
- Better Health Foundation. “What Are Phytonutrients?” [Online]. Available from:https://fruitsandveggies.org/stories/what-are-phytochemicals/
- Natalie Olsen. “Phytonutrients” [Online]. Available from:https://www.healthline.com/health/phytonutrients
- Alina Petre. “Lycopene: Health Benefits and Top Food Sources”[Online]. Available from: https://www.healthline.com/nutrition/lycopene
- Peter Engel. “Beta-Carotene Benefits” [Online]. Available from: https://www.nutri-facts.org/en_US/nutrients/carotenoids/beta-carotene/health-functions.html